
โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน
แม้พฤติกรรมอัน “ฉ้อฉล” เพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่ง จะถูกตีแผ่ให้สาธารณชนรับทราบอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ยังไม่มีใครสามารถตัด “เนื้อร้าย” เหล่านี้ให้หมดไปจากสังคมไทยได้อย่างเด็ดขาด
ความฉ้อฉลที่ถูกผลิตซ้ำทางวิธีการได้รับการพัฒนาขึ้นจนแยบคาย จากอดีตกรณีการจับทุจริตสอบในมหาวิทยาลัยเปิดชื่อดัง เรื่อยมาถึงกรณีคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจพบทุจริตสอบคัดเลือกบุคคลเข้าโรงเรียนนายอำเภอ ปี2552
กระทั่งล่าสุด การสอบเพื่อแต่งตั้งเลื่อนชั้นเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร พ.ศ.2553 ก็ตรวจพบ “เครื่องรับสัญญาณ” ที่ซุกซ่อนไว้บริเวณกางเกงชั้นใน ของนายตำรวจชั้นประทวน 16 นาย
วิธีการ “แปลงสัญญาณ” โทรศัพท์ เพื่อ รับ – ส่ง คำตอบจะได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะและดำเนินการเป็นขบวนการ ที่สำคัญจะ “แฝงตัว” อยู่ตามสถาบันกวดวิชาต่างๆ อาทิ กวดวิชาเพื่อสอบนายอำเภอ ปลัด ตำรวจ รวมทั้งการสอบ ก.พ. เป็นต้น
“น้องไม่ต้องอ่านหนังสือเลย ก่อนสอบ 1 วัน ให้มาซ้อมรับสัญญาณที่ตึกข้างๆ ที่นี่ และก่อนเข้าสอบให้มารับอุปกรณ์ตามสถานที่ๆ นัดกันไว้”พนักงานสถาบันกวดวิชาแห่งหนึ่ง ย่านรามคำแหงระบุชัด
สำหรับอุปกรณ์ดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพับ ขนาดเล็ก มองภายนอกจะเห็นว่าปิดเครื่องอยู่ ทั้งที่เปิดใช้งานตามปกติ โดยระบบถูกตั้งให้สั่นตลอดเวลา โดยขณะที่ซ้อมรับสัญญาณ เจ้าหน้าที่สถาบันจะให้ลูกค้าสัมผัสถึงแรงสั่นและจังหวะการสั่น พร้อมแนะนำรหัสเพื่อความเข้าใจตรงกัน
“หลังเริ่มทำข้อสอบแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง สัญญาณแรกของโทรศัพท์จะสั่นยาวๆ 10 วินาที นั่นหมายถึงให้เตรียมพร้อม จากนั้นคำตอบจะถูกส่งทีละชุด ชุดละ 10 ข้อ โดยแต่ละข้อนั้นจะเว้นระยะประมาณ 3 วินาที ถ้าโทรศัพท์สั่น 1 ครั้งคือให้ตอบข้อกอ ถ้า 2 ข้อขอ ถ้า 3 ข้อคอ ถ้า 4 ข้องอ เมื่อครบ 10 ข้อจะสั่นยาวๆ อีก 10 วินาที เพื่อขึ้นข้อที่ 11 และเมื่อครบหมดแล้ว ก็จะมีการสั่นยาวๆ อีก 10 วินาทีเพื่อให้ทบทวน แล้วเราก็จะส่งสัญญาณทั้งหมดซ้ำให้อีก 1 รอบ”พนักงานประจำสถาบันกวดวิชาอธิบาย
อัตราบริการสำหรับ “ทุจริตสอบ” นั้น มีตั้งแต่ 4 หลัก จนถึง 7 หลัก ขึ้นอยู่กับระดับความสำคัญของการสอบ
ความเคลือบแคลงถึงวิธีการดัดแปลงโทรศัพท์และส่งสัญญาณ ได้รับการอธิบายจาก วิศวกรระบบ ผู้รับผิดชอบดูแลสัญญาณโทรศัพท์เครือข่ายอันดับหนึ่งของประเทศไทยว่า หลักการที่ทำให้โทรศัพท์เปิดเครื่องอยู่ทั้งที่อยู่ในสภาพปิดนั้น เป็นหลักเดียวกับที่นาฬิกาเดินได้ ทั้งๆ ที่ปิดโทรศัพท์
“มันยังใช้พลังงานจากแบตเตอร์รี่อยู่ พอเขียนโปรแกรมหลอกเอาไว้มันก็ดูเหมือนดับ ก็เหมือนกับทีวีที่ถูกเขียนโปรแกรมตั้งค่าเวลาเปิดปิด”วิศวกรหนุ่มอธิบาย
ส่วนการส่งสัญญาณคำตอบเข้าเครื่องโทรศัพท์ เป็นหลักการเดียวกันกับการส่งข้อความสั้น (sms) ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสัญญาณโครงข่ายใหญ่ แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ 1.ส่งจากเครื่องสู่เครื่อง 2.ส่งจากเครื่องแม่ข่ายกระจายไปยังลูกข่ายพร้อมๆ กัน โดยกรณีนี้คาดว่าเป็นไปในลักษณะที่ 2
“มันไม่ได้ซับซ้อนและไม่จำเป็นต้องดัดแปลงโทรศัพท์อะไรเลย โปรแกรมก็เขียนไม่ยาก ใครที่สามารถเขียนเกมจาวาเล่นในมือถือได้ก็เขียนโปรแกรมนี้ได้”วิศวกรรายเดียวกันนี้ระบุ
สำหรับการทำงานของโปรแกรม เป็นไปในลักษณะการรับอินพุตมารูปแบบหนึ่ง และประมวลออกเป็นเอ้าท์พุตในอีกรูปแบบหนึ่ง อธิบายง่ายๆ คือ ถ้าใส่อินพุตคำว่า Hello เข้าไปในเครื่องแม่ข่าย แต่ลูกข่ายได้ถูกตั้งไว้ว่าหากเจอคำว่า Hello ให้สั่น 3 ครั้ง เมื่อแม่ข่ายส่งข้อความมายังเครื่องลูก เครื่องลูกมันก็สั่นตามที่กำหนด
“ยืนยันว่าสามารถเขียนโปรแกรมตามที่ต้องการได้ในทุกกรณี ดูง่ายๆ อย่างโทรศัพท์มือถือทั่วๆ ไป มันยังมีให้เลือกว่าสั่น 1 ครั้ง สั่น 10 ครั้ง หรือสั่นจนกว่าคนโทรมาจะวางสาย นี่ก็เหมือนกันเลย เพียงแค่ตั้งโค๊ดไว้ว่าสั่น 1 ครั้งพิมพ์ a สั่น 2 ครั้งพิมพ์ b สั่นยาวๆ ติดกัน 10 วินาที พิมพ์ TT เมื่อเราจะส่งคำตอบว่า ข้อ 1 ตอบช็อยด์บี และให้สั่นยาวๆ 10 วินาทีก่อนขึ้นข้อ 2 ที่จะต้องตอบเอ เราก็ใส่อินพุตไปว่า a b TT b a ก็แค่นั้น”เขาสรุปความ
ความเลวร้ายของเทคโนโลยี อาจเทียบไม่ได้เลยกับพฤติกรรม "เพิกเฉย" หรือการ "ปิดตาหนึ่งข้าง" จากเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเหตุให้ "ข้อสอบรั่ว" ถึงมือสถาบันกวดวิชา กระทั่งได้รับการเฉลยและเผยแพร่สู่มือผู้เข้าสอบในที่สุด
ที่มา โพสต์ทูเดย์
เข้าชม : 67375
|