เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ที่ผ่านมา เวลา ๐๙.๐๐ น.นายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)ปฏิบัติการตำรวจประสานโรงเรียน ๑ ตำรวจ ๑ โรงเรียน และมอบธงสัญลักษณ์โครงการฯ ในพื้นที่ภาค ๗ นำร่อง ๑๑๑ โรงเรียน โดยมี พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงษ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน ในพิธี พร้อมด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ,ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ,นายศิริพงษ์ หาญตระกูล หัวหน้าผู้ตรวจการกระทรวงมหาดไทย ,นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด , นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ,นายภูมิพิชญ์ วโรดมรุจิรานนท์ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ,พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ โชติมา ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด พล.ต.ท.หาญพล นิตย์วิบูลย์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๗ ,ผู้ว่าราชการจังหวัด ,ผู้บังคับการตำรวจจังหวัด, ผู้อำนวยการเขตการศึกษาระดับประถมในพื้นที่ ,ผู้อำนวยการเขตการศึกษาระดับมัธยมในพื้นที่ภาค ๗,ผู้อำนวยการสถานศึกษา ๑๑๑ โรงเรียน,รองผู้บังคับการตำรวจภูธร ๕๙ สถานี ครูและตำรวจ ที่ทำหน้าที่ต้องประสานโรงเรียนร่วมเป็นสักขีพยานกว่า ๘๐๐ คน ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ โรงแรมเวล อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
พล.ต.ต.คำรบ ปัญญาแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๗ ได้กล่าวรายงานความเป็นมาของโครงการว่า “ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมกันและเร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง การปราบปราม การป้องกันและ การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ยังคงเป็นยุทธศาสตร์หลักที่ทุกฝ่ายต้องผนึกกำลังกันการป้องกัน กลุ่มเสี่ยงที่เป็นเด็กและเยาวชน เป็นเรื่องหนึ่งที่ทุกฝ่ายมีความห่วงใย ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จัดโครงการการศึกษาเพื่อต่อต้านการใช้ยาเสพติดในเด็กนักเรียน หรือที่เรียกว่าโครงการแดร์ จัดครูตำรวจแดร์เข้าไปสอนให้ความรู้เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันยาเสพติด ให้กับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ในหลายพื้นที่ ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความพึงพอใจ และชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง แต่เนื่องจากบางโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่แพร่ระบาดซึ่งเป็นระดับมัธยม หรือกลุ่มเด็กในที่เป็นวัยรุ่นที่อยากรู้อยากลอง ปัญหาดังกล่าวก็มีทั้งปัญหายาเสพติดและเกี่ยวเนื่องกับอบายมุขนอกโรงเรียนด้วย บางโรงเรียนก็แก้ปัญหาได้เองบางโรงเรียนก็เกินขีดความสามารถของครู ที่รับผิดชอบ นอกจากนั้นการแก้ไขปัญหายาเสพติดจำเป็นต้องดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งในมิติ การป้องกัน ปราบปราม และการบำบัดรักษาควบคู่กันไป บางโรงเรียนครูที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจัง ก็ถูกคุกคามจากกล่มผู้ค้าหรือผู้ที่มีอิทธิพล”
ด้านรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการตำรวจประสานงานโรงเรียน ๑ ตำรวจ ๑ โรงเรียน เป็นความร่วมมือระหว่างตำรวจกับทางโรงเรียน ที่จะรองรับและแก้ไขปัญหาดังกล่าว การดำเนินการในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนและเห็นชอบทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดดำเนินการเป็นการนำร่องในพื้นที่ภาค ๗ ซึ่งประกอบไปด้วยทั้ง ๘ จังหวัดใน ๔๔ อำเภอ ที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรง ในพื้นที่รับผิดชอบของ ๕๙ สถานีตำรวจ จำนวนโรงเรียน ที่ร่วมโครงการทั้งสิ้น ๑๑๑ โรงเรียน ในแต่ละโรงเรียนจะมีผู้รับผิดชอบเป็นครู ๓ คน และตำรวจ อีก ๑ คน เพื่อที่จะรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมทั้งอบายมุขอื่น ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนควบคู่กันไป การแก้ไขปัญหายาเสพติดจะถือหลัก ต้องรู้จัก จัดตรง และต่อเนื่อง ดังนั้นทุกโรงเรียนที่ร่วมโครงการจะต้องมีการคัดแยกนักเรียนกลุ่มดี กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเสพหรือขายให้ชัดเจน และจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะสามารถป้องกันแก้ไขและป้องปรามปัญหายาเสพติดและอบายมุขอื่นในโรงเรียนได้การดำเนินการตามโครงการนี้ใช้งบประมาณไม่มากนักแต่ใช้การประสานงานและการบูรณาการเป็นหลัก ซึ่งก็สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของแต่ละฝ่ายอยู่แล้ว และยังจะช่วยเสริมการดำเนินการตามโครงการแก้ไขปัญหาเสพติดอื่นๆ ของทางโรงเรียนได้อีก ไม่ว่าโครงการห้องเรียนสีขาว โครงการเพื่อนเตือนเพื่อน หรือโครงการ To be number one เป็นต้น